ปัญหาในการจัดการมรดก

ปัญหาในการจัดการกับทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ รวมทั้งความรับผิดชอบต่างๆ ที่เรียกโดยรวมว่า กองมรดก ของผู้ที่ถึงแก่ความตายหรือสาบสูญนั้น มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนส่งผลให้ในแต่ละปีมีการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 - 2553 มีคดีขอจัดการมรดกขึ้นสู่ศาลมากถึง 318,682 คดี โดยในปี พ.ศ. 2553 มีคดีขอจัดการมรดกมากที่สุดถึง 72,594 คดี
เมื่อบุคคลใดตาย หรือศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท จึงมีปัญหาว่าทายาทผู้รับมรดกจะจัดการอย่างไรกับทรัพย์มรดก

กองมรดก อาจหมายถึง ทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดซึ่งไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย เช่น กรรมสิทธิ์ในบ้าน รถยนต์ บัญชีเงินฝากในธนาคาร อาวุธปืน ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีอยู่เหนือลูกหนี้ เป็นต้น

ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอาจจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม กฎหมายกำหนดว่าทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ คือ (1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ย่าตายาย (6) ลุงป้าน้าอา ส่วนคู่สมรสนั้นหากทายาทโดยธรรมยังมีชีวิตอยู่ ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสในการรับมรดกให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากไม่มีทายาทโดยธรรมคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดก เว้นแต่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมดให้แก่บุคคลอื่น

กองมรดกที่มีทรัพย์สินไม่มากนัก ไม่มีหนี้สินหรือทายาทปรองดองกัน การจัดการทรัพย์มรดกก็ไม่มีความยุ่งยาก ตรงกันข้ามหากกองมรดกนั้นมีทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน คือ เป็นทั้งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ผู้อื่นอยู่ ก็อาจเกิดปัญหาในการรวบรวมทรัพย์มรดกและการติดตามทวงหนี้ที่กองมรดกเป็นเจ้าหนี้ จึงต้องมีการจัดการทรัพย์มรดกก่อนแบ่งกันระหว่างทายาท

ปัญหาในการจัดการทรัพย์มรดกหรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่นั้นมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เช่น ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินปฏิเสธไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ผู้รับมรดก หรือธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าผู้นั้นเป็นทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2548

การขอตั้งผู้จัดการมรดกต้องยื่นต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่

กองมรดกที่ไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดิน แผ่นดินก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ส่วนปัญหาที่ว่าสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้น แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้กองมรดกซึ่งตามปกติย่อมมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก และพนักงานอัยการมิได้คัดค้าน จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531 (ประชุมใหญ่)

ผู้ร้องเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก อยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมแต่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินร่วมกัน ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2520

หน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่สำคัญๆ ได้แก่ หาตัวทายาท รวบรวมทรัพย์มรดกตลอดจนติดตามทวงหนี้ที่กองมรดกเป็นเจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดกและบัญชีการจัดการ ชำระหนี้กองมรดกให้แก่เจ้าหนี้ และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท เป็นต้น

การแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ได้แก่ ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิรับมรดก เช่น บุตร บิดามารดา คู่สมรสของเจ้ามรดกผู้รับพินัยกรรมของเจ้ามรดก ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก เช่น กรณีที่สามีภริยาไม่จดทะเบียนสมรสและมีทรัพย์สินร่วมกัน หรือพนักงานอัยการสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้

เมื่อยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ศาลจะทำการไต่สวน โดยทั่วไปศาลจะไต่สวนหลังจากรับคำร้องประมาณ 1 เดือน เนื่องจากมีขั้นตอนการประกาศหนังสือพิมพ์ เพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้คัดค้านได้ การไต่สวน ผู้ร้องจะต้องมาศาลและนำพยานอื่น เช่น ทายาทคนอื่นๆ มาด้วย เพื่อไต่สวนว่ายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก

นิติบุคคลก็อาจเป็นผู้จัดการมรดกได้เพราะไม่มีกฎหมายห้าม เช่น วัดโดยเจ้าอาวาสหรือสภากาชาดไทยซึ่งเป็นนิติบุคคลก็เป็นผู้จัดการมรดกได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2524 (ประชุมใหญ่) และ 3166/2529

เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกสามารถนำคำสั่งศาลไปแสดงเป็นหลักฐานต่อธนาคารเพื่อเบิกเงินของเจ้ามรดก หรือยื่นต่อเจ้าพนักงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจัดการทรัพย์มรดกดำเนินต่อไปได้

หากผู้จัดการมรดกปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการจัดการมรดก หรือจัดการมรดกเสียหาย ประมาทเลินเล่อในการจัดการมรดก หรือทุจริตในการจัดการมรดก เช่น เบียดบังเอาเป็นของตนเองบ้าง ผู้จัดการมรดกอาจถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก และยังเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ การถอนผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นลง

การที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ก็เพื่อให้การแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นธรรม โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ในกรณีที่ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเอง ระบุผู้จัดการมรดกหรือระบุให้บุคคลใดเป็นผู้ตั้งผู้จัดการมรดก หรือการอื่นๆ อันจะบังคับได้เมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายไว้ การจัดการทรัพย์มรดกต้องเป็นไปตามเจตนาและความมุ่งหมายของผู้ตายที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2826/2517 และ 5120/2539

ดังนั้น ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการกองมรดก เมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกและผู้ร้องต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมาย


โดย สราวุธ เบญจกุล  www.manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น