ทำไมต้องจ้าง สถาปนิกและวิศวกร

ปลูกบ้านหลังเล็กๆ ทำไมต้องเสียเงินจ้างสถาปนิกและวิศวกร?


ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็เพราะว่าทั้ง 2 ต้องเซ็นชื่อลงในแบบก่อสร้างเพื่อยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างกับทางสำนักงานเขตครับ แต่ถ้าจะตอบด้วยเหตุและผลก็อาจจะยาวหน่อย เพราะเมื่อท่านยินดีว่าจ้างสถาปนิกและวิศวกร โดยยอมจ่ายเงินประมาณ 7.5 % จากราคาค่าก่อสร้าง เงินนี้จะมีผลผูกพันให้ สถาปนิกจะต้องทำหน้าที่ต่อไปนี้ให้กับท่านคือ

1. ให้คำปรึกษาเกือบทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง อย่างเช่น จะออกแบบบ้านอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งานของเจ้าของบ้าน จะหาผู้รับเหมาได้จากที่ไหน หรือแม้กระทั่งจะกู้เงินกับธนาคารอย่างไร

2. ทำหน้าที่คอยประสานงานกับวิศวกรโครงสร้าง หากโครงการมีขนาดใหญ่อาจต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำทีมคอยประสานงานเพิ่มเติมกับ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรสุขาภิบาล วิศวกรเครื่องกล มัณฑนากร หรือภูมิสถาปนิก ตามความซับซ้อนของงาน

3. ออกแบบเบื้องต้น และพัฒนาแบบดีไซน์ ในขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สถาปนิกจะต้องใช้ความคิดและประสบการณ์การทำงานส่วนตัวทั้งหมดที่มี วิเคราะห์สภาพแวดล้อม ศึกษาข้อกำหนดของกฎหมายที่มีผลกับที่ดินและลักษณะของอาคาร กำหนดแนวความคิดในการออกแบบ วางผังอาคาร เพื่อตอบโจทย์หรือความต้องการทั้งหมดของเจ้าของบ้าน จากนั้นก็พัฒนาแบบจนเจ้าของบ้านพอใจหรือตามแต่ที่จะตกลงกันไว้

4. ทำแบบก่อสร้าง เพื่อนำไปใช้ในการสร้าง ซึ่งแบบก่อสร้างนี้มักจะประกอบไปด้วย ผังพื้น ผังหลังคา รูปตัด รูปด้าน และแบบขยายรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ช่างก่อสร้างทราบถึงรายละเอียดของ ตำแหน่ง ขนาด และวัสดุที่จะใช้งานและก่อสร้าง โดยแบบดังกล่าวจะต้องนำไปยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างกับทางสำนักงานเขต เพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิในการก่อสร้าง

5. ทำการประมูลและเจรจาต่อรอง สถาปนิกอาจทำการประเมินราคาค่าก่อสร้างอาคารจากแบบก่อสร้าง และช่วยเจ้าของบ้านหาผู้รับเหมาที่จะมาทำหน้าที่รับงานก่อสร้าง โดยผ่านวิธีการประมูลราคาจากผู้รับเหมาหลายๆ รายเพื่อเปรียบเทียบ และเจรจาต่อรองก่อนตัดสินใจ

6. บริหารงานก่อสร้าง สถาปนิกผู้ออกแบบจะต้องหมั่นเข้าไปดูแลงานก่อสร้างว่าถูกต้องและเป็นไปตามแบบก่อสร้างที่ออกแบบหรือเมื่อมีปัญหาที่เกี่ยวกับแบบก่อสร้าง และทำหน้าที่คอยประสานงานกับเจ้าของบ้าน ผู้รับเหมา และวิศวกร เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินการจนแล้วเสร็จ

7. ให้คำปรึกษาในการซ่อมบำรุง หลังจากที่บ้านสร้างเสร็จแล้วสถาปนิกมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและดูแลแก้ไขปัญหาที่เป็นผลเกิดขึ้นจากการออกแบบของสถาปนิก ถึงแม้ว่าผู้รับเหมาโดยส่วนใหญ่จะรับประกันงานก่อสร้างเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี แต่หลังจากนั้น เมื่อมีปัญหาเจ้าของบ้านก็สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสถาปนิกผู้ออกแบบได้เช่นกันครับ

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวยังจะครอบคลุมไปถึงวิศวกรผู้ที่จะทำงานร่วมกับสถาปนิกที่ท่านว่าจ้าง โดยหน้าที่ของวิศวกรจะเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในช่วงตั้งแต่สถาปนิกเริ่มกระบวนการในการออกแบบเบื้องต้น โดยมีหน้ารับผิดชอบดังต่อไปนี้

1. ให้คำปรึกษาแก่สถาปนิก ในเรื่องของโครงสร้างบ้าน ทั้งในมุมของโครงสร้างที่เหมาะสมกับการออกแบบ ความเหมาะสมของโครงสร้างกับราคาค่าก่อสร้าง เพื่อให้สถาปนิกนำไปใช้ประกอบในการพัฒนาแบบบ้านหรืออาคาร

2. ออกแบบโครงสร้าง วิศวกรจะต้องพยายามออกแบบโครงสร้างให้รองรับแบบที่สถาปนิกพัฒนาขึ้น

3. ทำรายการคำนวณโครงสร้าง เพื่อใช้ประกอบการยื่นแบบเพื่อขอใบอนุญาตก่อสร้าง

4. วิศวกรจะต้องหมั่นเข้าไปดูแลงานโครงสร้างที่ตนเองเป็นผู้ออกแบบ ให้เป็นไปตามแบบที่คำนวณไว้หรือเมื่อมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเกิดขึ้น

5. ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากโครงสร้าง วิศวกรมีหน้าที่ต้องคอยให้คำปรึกษาแก่สถาปนิกเมื่อโครงสร้างของบ้านมีปัญหาเกิดขึ้นในภายหลังจากที่การก่อสร้างเสร็จสิ้นเรียบร้อยเช่นเดียวกันกับสถาปนิก

หากไม่นับภาระในข้อสุดท้ายของทั้งสถาปนิกและวิศวกร เงินจำนวน 7.5% ของราคาค่าก่อสร้างที่ใช้ว่าจ้างสถาปนิกและวิศวกร หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาในการทำงานประมาณ 1 ปี แต่เมื่อนับรวมภาระหน้าที่รับผิดชอบในข้อสุดท้าย เงินจำนวนดังกล่าวถือว่าไม่เยอะเลยครับ สำหรับบ้านของท่านหลังหนึ่งซึ่งอาจมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป รู้แล้วใช่ไหมครับว่าทำไมท่านจึงควรจ้างสถาปนิกและวิศวกร

ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารบ้านและสวน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น