จัดการมรดก 6 วิธี โดย ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร


เมื่อคนเราทำมาหากินโดยซื่อสัตย์สุจริตตามที่คุณพ่อคุณแม่หรือครูบาอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนรวมทั้งมีวินัยการใช้เงิน ในชมรมคนออมเงิน (www.saverclub.org) ซึ่งเราจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2548 ขณะนี้มีสมาชิกราว 24,000 คน และมีกิจกรรม เผยแพร่ความรู้ จัดสัมมนา แจกจ่ายบทความทาง Website ตอบคำถามเรื่องการเงิน การอบรมสอนลูก การประหยัด รู้จัดวิธีลงทุน และวางแผนภาษีอากรตามกฎหมาย เรามักจะแนะนำว่าสมาชิกทุกคนควรใช้เงินให้น้อยกว่าที่หามาได้ทุกเดือนเพื่อ จะได้มีเงินออมอย่างสม่ำเสมอ เรื่องนี้ไม่ใช่ของยาก เพราะถ้าเราดูแลค่าใช้จ่าย ทำบัญชี เราก็จะมีเงินเหลือเก็บ

จากนั้นก็เอาเงินออมไปลงทุนอย่างรอบคอบโดยกระจายในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท เช่น ซื้อบ้านให้ครอบครัวอยู่อาศัยอย่างสุขสบาย ซื้อหุ้นที่ให้เงินปันผลดี มีโอกาสเติบโต และมีสภาพคล่อง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ซึ่งขณะนี้ให้ผลตอบแทน 8-10% ต่อปี สูงกว่าฝากแบงค์ถึง 3-4 เท่า โดยมีความเสี่ยงต่ำ ซื้อง่ายขายคล่อง และถ้าคุณเป็นคนที่ลงทุนอย่างระมัดระวังมากก็อาจเน้นเงินฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้ ซึ่งเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงกว่า แต่ผลตอบแทนจะน้อยเพียงปีละ 2-3%

มิฉะนั้นก็พิจารณาลงทุนทองคำ ซึ่งปกติควรเป็นทองแท่ง ทองรูปพรรณ ซื้อจากร้านค้าทองขนาดใหญ่ที่น่าเชื่อถือ เช่น ร้านเล่งหงษ์ ที่เยาวราช (โทร. 02-221-5111 หรือ 02-224-5251), ร้านออสสิริส ที่ชั้น 25 เซ็นทรัลเวิลด์ โทร. 02-613-1010 และ 02-225-9904 – 7 หรือกองทุนทองคำของ บลจ. ต่าง ๆ เช่น บลจ. อยุธยา (AYF โทร. 02-657-5757) ถ้าหากคุณศึกษาเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญของประเทศไทยหรือต่างประเทศ การลงทุนสะสมเหรียญกษาปณ์ทองคำก็เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง เหรียญกษาปณ์ของรัฐบาลไทยแลกได้ในราคาใกล้เคียงกับราคาทองคำที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ที่ถนนพระราม 6 ริมคลองประปา โทร. 02-618-6340 หรือที่สำนักงานในวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง

คนไทยเรานิยมเก็บทรัพย์สินไว้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน ในสมัยใหม่นี้ก่อนที่จะให้เยาวชนรุ่นต่อไปได้รับมรดกคุณควรพิจารณาถึง ทรัพย์สินทั้งประเภทที่มีตัวตน (Tangible Assets) ซึ่งมี 4-5 ประเภท ดังกล่าวไว้ข้างต้น และทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets)

ในสายตาของผมทรัพย์สินไม่มีตัวตนที่มีค่ามาก คือ อุปนิสัยที่ดีของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขยันขันแข็งในการงาน ความสุภาพเรียบร้อย ซื่อสัตย์สุจริต การมุ่งมั่นที่จะค้นคว้า ใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อทำตัวเองเป็นคนทันสมัย รู้จักเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดให้แก่ลูก ๆ ได้ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชน รวมทั้งเน้นถึงประโยชน์ เช่น ถ้าเรารู้จักอดออมก็จะไม่เป็นหนี้ มีเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ทำให้ชีวิตสุขสบาย ห่างไกลความแร้นแค้น ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องใช้เงินเดือนชนเดือน ไม่ต้องส่งต้นส่งดอกแก่เจ้าหนี้

ทรัพย์สินไม่มีตัวตนอีกประเภทหนึ่งที่มีค่าควรแก่การพิจารณา คือ ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร (Patent) คือ วิธีการหรือสูตรลับต่าง ๆ ที่คุณค้นคิดประดิษฐ์ขึ้นมา และได้จดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูตรของยารักษาโรค เครื่องสำอาง หรือแม้แต่อาหารเครื่องดื่มบางชนิดที่ขายกันแพร่หลาย หรือคุณอาจพัฒนาเครื่องหมายการค้า (Trademark) หรือเครื่องหมายบริการ (Servicemark) ที่ได้รับความนิยมเชื่อถือ สินค้าหรือบริการใดที่มีเครื่องหมายดังกล่าวย่อมขายดีและให้ผลกำไรงาม ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสุดท้าย คือ ลิขสิทธิ์ (Copyright) ซึ่งมีทั้งลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ เพลง และคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์

บางคนก็สร้างเครือข่ายเรื่องการขายตรง เช่น การขายสินค้าที่มีคุณภาพของ Nu Skin ซึ่งคุณสามารถหารายละเอียดได้ที่www.nuskin.com หรือโทร 02-791-8500 สำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้น 15 ยูนิต 1-2, 9-16 อาคารจัตุรัสจามจุรี เลขที่ 319 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  หรือขายบริการ อาชีพที่เรียกได้ว่าแพร่หลายมากในปัจจุบันก็คือ การขายประกันชีวิต เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิตของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ซึ่งถ้าเครือข่ายที่สร้างไว้มีลูกข่ายเป็นชั้นชั้น เรียกว่า Multi Level Marketing หรือ MLM ก็จะให้ผลตอบแทนแม้คุณจะเสียชีวิตไปแล้ว คนเราไม่ว่าจะแข็งแรงปานใด สักวันหนึ่งคุณก็จะแก่และตาย แต่เครือข่ายที่สร้างไว้จะก่อให้เกิดรายได้และผลตอบแทนให้แก่ลูกหลานเป็น มรดกตกทอดไปได้อีกหลายปี ถือเป็นรายได้ในทางอ้อม คือ  Passive Income ซึ่งต่างกับ Active Income

เราสามารถแยกแยะว่า Active Income หรือรายได้โดยตรงจากการทำงานแตกต่างกับ Passive Income หรือรายได้จากการลงทุนหรือการสร้างเครือข่ายได้ง่าย ๆ ดังนี้

ระหว่างวัยหนุ่มสาวคนเรามีกำลังกายมาก เมื่อเราลงแรงทำงาน เราก็จะได้ค่าจ้าง เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชั่น หรือผลประโยชน์อื่น ๆ จากการทำงาน แต่เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า สักวันหนึ่งเราจะต้องแก่ชราลงและถึงวัยเกษียณ ตอนนั้นแรงก็จะถดถอย การที่จะทำงานมาก ๆ อย่างสมัยหนุ่มสาวก็จะยาก นอกจากนี้การทำงานให้ได้ผลงานและประสิทธิภาพมาก ๆ จะต้องมีผู้ช่วย การสร้างเครือข่าย ทำงานกันเป็นทีม ใช้เทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญา เช่น กรรมวิธีหรือสูตรในการผลิตสินค้ามาเสริมสร้างประสิทธิภาพ เผื่อว่าสักวันหนึ่งเมื่อเราหมดแรง ลูกข่ายทีมงานของเรา เทคโนโลยี หรือสูตรการผลิตสินค้าที่เราค้นคิดประดิษฐ์ขึ้นมา ก็ยังรับช่วงดำเนินการต่อไปได้พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้เราอย่างต่อเนื่อง นี่คือที่มาของ Passive Income

Active Income แยกออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

(1)  ลงทุนในทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้หรือมีผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นครั้งคราวหรือเป็นประจำ ทรัพย์สินที่สร้างรายได้ประจำ เช่น เงินฝากธนาคาร ซื้อตราสารหนี้ซึ่งมีทั้งพันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋วแลกเงินต่าง ๆ ทรัพย์สินเหล่านี้ให้ดอกเบี้ยแก่เราเป็นรายเดือนบ้าง เป็นรายไตรมาส คือ ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน หรือรายปี การซื้อหุ้นที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลดีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้คุณได้รับเงินปันผลทุก ๆ 3 เดือน, 6 เดือน หรือปีละครั้ง การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์    ไม่ว่าจะเป็นบ้าน   คอนโดมิเนียม   อาคารพาณิชย์    หรือแม้แต่อพาร์ทเม้นท์ เพื่อปล่อยให้ผู้อื่นเช่า เราก็จะได้ค่าเช่า รวมทั้งเรียกเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าบริการทำความสะอาด ซึ่งการลงทุนประเภทนี้ถือเป็น Passive Income คือ รายได้จากการลงทุนประเภทหนึ่ง

(2)  Passive Income อีกประเภทหนึ่งก็คือ การทำธุรกิจหลาย ๆ ชั้น โดยสร้างเครือข่ายอย่างที่เรียกว่า Multi Level Marketing ในลักษณะที่เป็นการขายตรง

ผมมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการจัดการมรดกหกวิธีให้ตกทอดแก่ลูกหลานหรือบุคคลที่เรารักเราห่วงใย ดังนี้

1.  อย่าปกปิดฐานะทางการเงินของครอบครัว ทำนองเล่นซ่อนหา                 

คุณควรบอกให้คนที่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นภรรยา สามี หรือลูก ๆ (สำหรับคนโสดก็มีพ่อแม่หรือพี่น้อง) ว่า ครอบครัวมีทรัพย์สินอะไรบ้าง หรือมีหนี้สินหรือไม่ เท่าใด หากมีหนี้สินก็ควรสั่งลูกหลานว่าเมื่อคุณตายไปอย่าลืมเอามรดกไปใช้เจ้าหนี้ ให้หมดหนี้ อย่าทำเป็นเหนียวหนี้ ทั้งนี้ เพราะเราไม่อยากให้เป็นขี้ปากชาวบ้านว่า ครอบครัวของเราเป็นหนี้เป็นสินแล้วไม่จ่าย

นอกจากจะบอกให้คนรอบข้างในวงใกล้ชิดทราบด้านทรัพย์สินว่า มีอะไรบ้างแล้ว ควรบอกด้วยว่าเก็บอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้มีอำนาจจัดการ ทรัพย์สินบางประเภทมีทะเบียน เช่น ที่ดินก็มีโฉนด เงินฝากธนาคารก็มีบัญชี หุ้นก็จะมีใบหุ้นหรือฝากไว้กับ Brokers ทองคำก็เก็บไว้ในตู้นิรภัยของธนาคาร มีกุญแจหรือรหัสลับในการเปิดปิดตู้  คนใกล้ชิดเหล่านั้นจะได้รับทราบว่าคุณมีอะไรและจะจัดการทรัพย์มรดกได้อย่าง ไร

การทิ้งมรดกก้อนโตไว้โดยไม่บอกให้ทายาททราบล่วงหน้า จะทำให้เขามีปัญหาในการรับมือกับทรัพย์สินหรือความร่ำรวยที่เกิดขึ้นอย่าง กะทันหัน และอาจเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

2.  อบรมลูกหลานให้รู้จักจัดการทรัพย์มรดก
อย่างน้อยก็ให้เขาทราบเป็นพื้นฐาน เพราะทุกคนอยากจะให้ลูกดูแลกิจการหรือทรัพย์สมบัติต่อไปนาน ๆ การที่ลูก ๆ หรือทายาทขาดประสบการณ์ในการดูแลจัดการ หมายความว่า คุณกำลังนำพาเขาไปสู่หนทางแห่งความหายนะ ผู้ที่ได้รับมรดกจำนวนมากแล้วบริหารไม่เป็น ส่วนมากจะใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือร้ายกว่านั้นอาจจะเอาไปเล่นการพนัน ซึ่งผมพูดได้เลยว่าหากเป็นอย่างนี้อีกไม่นานทรัพย์มรดกจะหมดเกลี้ยง แล้วเขาก็จะประสบความลำบากมากเสียยิ่งกว่าไม่เคยได้รับมรดกเสียอีก

3.  อย่ากลัวการทดลอง
พ่อแม่ควรกระตุ้นให้ลูกทำงานตั้งแต่ยังเยาว์วัย ในสมัยเป็นนักเรียนก็อาจหางานให้ทำในระหว่างปิดภาคฤดูร้อน (Summer Job) ปัจจุบันเด็กนักเรียนหลายคนทำงานไปเรียนไป เป็นงาน Part Time ไม่ว่าจะเป็นการขายอาหาร ขายสินค้าต่าง ๆ นอกจากพวกเขาจะมีประสบการณ์และมีความตระหนักในหน้าที่แล้ว เขายังมีความภูมิใจว่าเงินที่หามาเองมีค่ามากกว่าที่จะแบมือขอจากพ่อแม่เป็น ประจำ เพราะทำให้เรารู้จักคุณค่าของเงินว่าหายากแค่ไหน

4. ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาน
ควรมอบเงินหรือทรัพย์สมบัติให้ลูกตามอายุของเขา ถ้าลูกอายุน้อยเพียง 20 ปี ก็ไม่ควรที่จะให้เงินไปทีเดียวมาก ๆ เพราะเขาจะบริหารไม่เป็น ต่อเมื่อเขาโตขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้น จึงค่อยๆ ระบายสินทรัพย์ให้เขาเพิ่มขึ้น คุณควรบอกรายละเอียดทรัพย์สินก้อนใหญ่เมื่อเขาอายุ 35 หรือ 40 ปีขึ้นไปก็ได้

5.  มองการณ์ระยะใกล้
ฝรั่งมักจะแนะนำว่าอย่าห่วงหลานมากจนเกินไป เพราะถ้าคุณอบรมลูกให้ดี ลูกก็จะดูแลหลานได้เอง หลายคนอาจจะรู้สึกผิดที่ว่าตอนสมัยยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่ค่อยให้เวลากับลูก ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้นแล้วมีหลานเลยอยากจะชดเชย โดยทุ่มเทให้หลาน อย่าลืมว่าคุณควรวางใจในตัวลูก ปล่อยให้เขาดูแลหลานและจัดการมรดกที่คุณมอบให้ จากนั้นเขาจะตัดสินใจว่าจะใช้ทรัพย์สมบัติอย่างไร หรือจะมอบให้หลาน ๆ ต่อไปอย่างไร

6.  อบรมสั่งสอนลูกให้ดีก่อนแบ่งมรดก
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในครอบครัวที่มั่งคั่ง คือ พ่อแม่ละเลยการอบรมสั่งสอนลูก ๆ ดังนั้น แทนที่คุณจะมอบเงินให้เขาอย่างไม่อั้น ควรให้เวลากับลูก ๆ ให้มากจะดีกว่า เพราะความรักเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดที่พ่อแม่จะมอบให้ได้ นอกเหนือจากการศึกษา

ในท้ายที่สุด หากคุณเกรงว่ามอบทรัพย์มรดกแล้วลูกจะรีบเอาไปขาย คุณอาจซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ระยะยาว เช่น 10-15 ปี ของรัฐบาลหรือบริษัทที่มีความมั่นคง จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ AA หรือ AAA แล้วมอบให้เขาถือไว้เพื่อรับดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ (Bond Market) ประเทศไทยยังไม่ค่อยพัฒนา การที่เขาจะเอาหุ้นกู้หรือพันธบัตรระยะยาวไปขายก็จะยาก เขาจึงต้องถือต่อไปนาน ๆ  ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณมอบเป็นที่ดิน บ้านเรือน  หรือหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องมากกว่าหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ระยะ ยาว เขาอาจขายแล้วนำเงินไปใช้อย่างสำมะเลเทเมา  ไม่ช้าเงินก็หมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

เนื่องจากเรามีเนื้อที่จำกัด ผมไม่สามารถเขียนเรื่องผู้จัดการมรดกและภาษีมรดก โอกาสต่อไปจะเล่าเรื่องที่น่าสนใจทั้งสองให้แก่ท่านผู้อ่านครับ

ดร. สุวรรณ  วลัยเสถียร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น